เปิดประวัติ "กาแฟเมียนมา" แหล่งกาแฟพิเศษที่น่าจับตามอง

78 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Baramio Coffee

เปิดประวัติ "กาแฟเมียนมา" แหล่งกาแฟพิเศษที่น่าจับตามอง
กาแฟโลกบันทึกเอาไว้ว่า กาแฟโรบัสต้าถูกนำมาจากอินเดีย เข้าไปปลูกทางตอนใต้ของ “เมียนมา” (ตอนนั้นยังเรียกกันว่าพม่า) โดยชาวอังกฤษ เมื่อปีค.ศ.1885 ประมาณ 60 ปีหลังจากที่ตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และเป็นในปีค.ศ. 1930 คณะมิชชันนารีคาทอลิก ได้นำกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าเข้าไปปลูกยังบริเวณที่เรียกว่าเมือง "พินอูลวิน" (เมเมียวในอดีต) ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของมัณฑะเลย์
ระหว่างปี ค.ศ. 1930-1934 การทำไร่กาแฟอาราบิก้าก็ขยับขยายขึ้นไปทาง “รัฐฉาน" และ “รัฐคะฉิ่น" ตอนนั้นยังมีโรงงานแปรรูปกาแฟเพียงแห่งเดียวเป็นกิจการของรัฐ ตั้งอยู่ที่เมืองพินอูลวิน ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่กาแฟจากเมียนมาได้ถูกนำข้าไปยังตอนใต้ของจีน, ลาว และไทย ในรูปของการซื้อขายอย่างไม่เป็นทางการ
ทว่าการผลิตกาแฟป้อนตลาดในเชิงพาณิชย์ตามความต้องการของเจ้าอาณานิคมไม่ได้คืบหน้าอะไรมากนัก กระทั่งเมื่ออังกฤษคืนอิสรภาพให้แก่เมียนมาในปีค.ศ.1948 การผลิตกาแฟซึ่งขณะนั้นมี “ชาวไร่รายเล็ก" เป็นผู้ครอบครอง ก็ตกอยู่ในภาวะ “จำศีล" ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล กระทั่งในปี ค.ศ. 1962 กิจการไร่กาแฟทั้งหมดได้ถูกยึดมาเป็นของรัฐ แต่กระนั้นผลผลิตกาแฟกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลกลาง
ปี ค.ศ. 1998 รัฐบาลในยุคนั้นมีนโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิก้าให้เป็น 250,000 ไร่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่การค้ากาแฟยังคงอยู่ในวงจำกัดเอามากๆ โครงการของรัฐบาลช่วยอะไรได้ไม่มากนัก
ในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญของตลาด “กาแฟเมียนมา” เมื่อริค เพย์เซอร์ ผู้บริหารโรงคั่วกาแฟชั้นนำของสหรัฐอย่าง "กรีน เม้าเท่น ค๊อฟฟี่ โรสเตอร์ส" (Green Mountain Coffee Roasters) ได้เดินทางเข้าไปค้นหา “เพชรในตม" ตามล่ากาแฟดีๆ ที่ยังซุกซ่อนอยู่ แต่กูรูกาแฟคนนี้ไม่ได้ไปมือเปล่า ยังเอาความรู้ด้านการปลูก การคั่ว และการแยกแยะรสชาติกาแฟ (cupping) อันเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก ไปถ่ายทอดให้ชาวไร่รายเล็กๆ ด้วย
โรงงานที่ว่านี้เป็นของบริษัทมัณฑะเลย์คอฟฟี่กรุ๊ป (Mandalay Coffee Group) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ทำงานด้วยกัน 2 ฟังก์ชั่น ฟังก์ชั่นแรก คือการแปรรูปเมล็ดกาแฟ ด้วยการเก็บเมล็ดจากชาวไร่ในพื้นที่รัฐฉาน (Shan) และรัฐใกล้เคียง โดยเมื่อผลไม้สีแดงนี้ถูกปอกออกจากเนื้อเยื่อ (ชั้นใต้เปลือกนอกที่หุ้มเมล็ด) มันจะถูกนำไปตากแห้งและคั่ว ในแต่ละขั้นตอนที่หลากหลายนี้ จะทำให้กาแฟมีรสชาติเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับประเภทของเมล็ดนั้นๆ
อีกฟังก์ชั่นหนึ่ง คือการประเมินคุณภาพเมล็ดกาแฟ เพราะบริษัทได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมกาแฟพิเศษของสหรัฐอเมริกา (Speciality Coffee Association of America) จึงทำให้บริษัทสามารถคิดค้นวิธีการแปรรูปจากแต่ละไร่ให้แยกประเภทเมล็ดกาแฟได้
นับจากการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของเมียนมาในปี ค.ศ. 2015 ที่เสมือนหนึ่งประตูทางเศรษฐกิจได้เปิดแง้มขึ้นมา หน่วยงานจากต่างประเทศ เช่น องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (ยูเสด) และวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจีโอภาคีเครือข่าย เริ่มพุ่งความสนใจไปยังกาแฟที่ปลูกใน “เมียนมา” มีการส่งคนเข้าไปให้คำปรึกษาและร่วมทำงานกับเกษตรกรท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคุณภาพของทั้งการปลูกและการเก็บเกี่ยว พร้อมกับจัดงบประมาณสำหรับสร้างโรงงานแปรรูปกาแฟ และองค์ความรู้ด้านต่างๆ หวังให้เป็น "จุดกำเนิด" ของธุรกิจกาแฟแบบพิเศษในประเทศนี้
ไร่ที่เขาเดินทางไปเยือนมีอยู่ด้วยกันหลายไร่ แห่งแรกอยู่ทางใต้ของรัฐฉาน ใกล้กับย่านที่เรียกกว่า ยางัน (Ywar Ngan) ต่อมาเมื่อมีการทำคัปปิ้งสกอร์ ผลปรากฎว่า ทุกไร่ได้คะแนนเกิน 80 คะแนน แล้วก็เป็นไร่กาแฟจากยางันเองที่ได้คะแนนสูงสุด 83.5 จนนำไปสู่การเจรจากับเกษตรกรชาวไทใหญ่ เพื่อนำเมล็ดกาแฟพม่าเข้าไปยังตลาดสหรัฐเป็นครั้งแรก
เมื่อมีการจัดตั้งมาตรฐานแล้ว คุณภาพจึงเริ่มพัฒนาขึ้น ในปี 2016 เมียนมาร์ผลิตกาแฟชนิดของตนเองได้เป็นครั้งแรก ทำคะแนนเกิน 80 แต้มตามเกณฑ์คะแนนของ SCAA และได้ชื่อว่าเป็น “กาแฟพิเศษ”
เอมี่ แวนน็อคเกอร์ (Amy VanNockey) ผู้เชี่ยวชาญจาก SCAA ที่ถูกส่งไปทำงานกับมัณฑะเลย์คอฟฟี่กรุ๊ป กล่าวว่า เมียนมาร์มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานด้านกาแฟ โดยเป็นผู้ปลูกทั้งเมล็ดคุณภาพเกรดต่ำและเกรดสูง เธอยังระบุว่า การจัดตั้งเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจนเช่นนี้ ได้ทำให้การคัดเลือกเมล็ดกาแฟเป็นไปอย่างแม่นยำขึ้น และทำให้คุณภาพถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
เนื่องจาก ได้มีเทรนด์ความสนใจกาแฟชงพรีเมี่ยมชนิด “คลื่นลูกที่สาม” ในประเทศที่ดื่มกาแฟราคาแพง ซึ่งต้องการดึงลักษณะพิเศษและเฉพาะของเมล็ดกาแฟออกมา ประกอบกับอุปสงค์ของกาแฟที่ปลูกในพื้นที่ต่างแดนกำลังเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทกาแฟในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น หันความสนใจให้กับเมียนมาร์
ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี แทบไม่มีใครมองเมียนมาร์เป็นประเทศผู้ปลูกกาแฟอย่างจริงจัง แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว และเมื่ออุปสงค์ได้เพิ่มขึ้น ราคาของเมล็ดกาแฟเมียนมาร์ได้เพิ่มขึ้นตาม หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานว่า ราคาเมล็ดกาแฟส่งออกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากราคาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นราคาตันละ 3,000 – 7,000 ดอลลาร์
แต่การผลิตในประเทศก็ยังถูกมองข้ามไปเพราะการผลิตของประเทศเพื่อนบ้าน ข้อมูลปีงบประมาณของรัฐบาลเมียนมาร์ระบุว่า ปี 2016 เมียนมาร์ผลิตกาแฟได้ 8,500 ตัน ในขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียผลิตได้ 1.7 ล้านและ 650,000 ตันตามลำดับ ดังนั้น ภายในปี 2030 รัฐบาลหวังเพิ่มพื้นที่ปลูกกาแฟให้เป็น 80,000 เฮกตาร์ (เพิ่มขึ้น 12,000 เฮกตาร์จากปัจจุบัน) เพื่อให้กาแฟกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/921228 
https://www.frontlinenews.digital/.../myanmar-and.../ 
https://news.trueid.net/detail/nxwaa86eAOlZ 
------------------------------------------------------------
Baramio Coffee ขอนำเสนอกาแฟเกรดSpecialtyจากรัฐฉานประเทศพม่า
ราคา 229 บาท/200 g.
Process : Fully washed
Tastenote : Plum, Hint of grapes , Sugar Cane , Almond ,Complicated flavor with Clean finished
Altitude : 1,400-1,600 MALS
สอบถาม/ สั่งซื้อ คลิกเลย
https://lin.ee/4n259F9 
หรือ Add line Official : @baramio
Shopee >>> https://shope.ee/8pNiIF9nI2
Lazada>>> https://s.lazada.co.th/l.2fpn 
TikTok>>> https://www.tiktok.com/@baramiocoffee 
Website>>> https://www.baramiocoffee.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้